Greyhound Blend Story 2020 @Ban Khun Lao Day 2
หลังจากที่ในวันแรก ทีมงาน Greyhound Cafe ได้รู้จักกับที่มาที่ไปของ Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee ที่บ้านขุนลาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ผ่านการเดินชมต้นกาแฟใต้ร่มเงาไม้ , ได้เห็นถึงมาตรฐานมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับสากลที่กาแฟออแกนิคแท้ 100 % ที่นี่ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการ และยังโชคดีได้เห็นการตากเมล็ดกาแฟของจริงจากชาวบ้านครบทั้ง 3 รูปแบบ ทั้ง Dry Process, Honey Process และ Wash Process แล้ว ในวันที่สอง วิทยากรทั้ง 3 ท่าน จะพาทีมงานทุกคนไปลองเก็บกาแฟด้วยตัวเองจากต้น เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงอย่างแท้จริงว่ากว่าจะได้กาแฟแต่ละเมล็ดมา ต้องใช้แรงและความพยายามมากขนาดไหน โดยปกติแล้วสมาชิกต้องผ่านการอบรมการเก็บกาแฟอย่างถูกต้องด้วย เนื่องจากมีวิธีที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การเก็บที่ไม่ถูกต้องสามารถส่งผลเสียระยะยาวต่อต้นกาแฟได้ กว่าจะเก็บได้เต็มตะกร้า แม้เป็นตะกร้าเล็กๆ ทีมงานยังใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ต้นกาแฟที่ทีมงานได้ลองเก็บกันในวันนี้
พี่แอร์ เทียบให้เห็นผลเชอร์รี่กาแฟระยะต่างๆ ต้องเก็บแต่ผลที่สุกเต็มที่เท่านั้น
ทีมงานต้องค่อยๆ เด็ดผลเชอร์รี่กาแฟทีละผลอย่างใจเย็น ห้ามเก็บแบบรูดเป็นอันขาด
การแยกสายพันธ์กาแฟที่ง่ายที่สุดสำหรับสมาชิกก็คือการแยกโดยดูจากสีของเมล็ดกาแฟ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือแบ่งเป็นสีแดงและสีเหลือง โดยสีเหลืองมีวนาจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยกสายพันธ์ที่มีประโยชน์และควรให้การใส่ใจ ซึ่งสาเหตุที่สีแดงรับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าก็เพราะจำนวนที่มีมากกว่า อาจมีการปะปนสายพันธ์อื่นได้ง่ายกว่านั่นเอง
ผลเชอร์รี่กาแฟสีแดง เป็นผลผลิตหลักที่สร้างรายได้ให้กลุ่มสมาชิก
ผลเชอร์รี่กาแฟแบบสีเหลืองมีให้เก็บได้น้อยกว่าผลสีแดง แต่สามารถขายได้ราคาสูงกว่า
หลังจากเก็บผลเชอร์รี่กาแฟมาได้เต็มตะกร้าแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำผลเชอร์รี่มาที่จุดรับซื้อซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของมีวนาอยู่ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคุณภาพ อย่างแรกที่ต้องดูคือผลผลิตที่ไม่มีเมล็ดสีเขียวที่ไม่สุก เมล็ดแห้ง เศษกิ่งไม้ใบไม้ปะปน โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบดูว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถึงเกณฑ์มากแค่ไหน ถ้านำมาชั่งน้ำหนักแล้วมีเกิน 2 เปอร์เซ็นต์จะไม่รับซื้อในทันที ให้สมาชิกกลับไปคัดกลับมาใหม่ เรื่องคุณภาพที่นี่ถือว่าเข้มงวดมาก
เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำผลักผลผลิตทั้งหมด ก่อนตรวจสอบคุณภาพต่อไป
หลังจากคัดผลผลิตที่ไม่สุกเต็มที่ออกแล้ว ขั้นต่อไปในการคัดคือการนำผลผลิตไปลอยน้ำ เมล็ดที่ลอยถือว่าเป็นเมล็ดที่ไม่มีคุณภาพ ต้องถูกคัดออกอีกส่วนหนึ่ง โดยสาเหตุที่เมล็ดกาแฟลอยเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาจเกิดจากโดนมอดเจาะ เมล็ดฝ่อ ไม่สมบูรณ์ เมล็ดที่จมเท่านั้นจึงจะถือว่าสมบูรณ์
เจ้าหน้าที่น้ำเมล็ดกาแฟมาลอยน้ำ เมล็ดที่จมเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ไปต่อ
กาแฟเมล็ดสีแดงที่ได้ไปต่อ
เมล็ดสีเหลืองที่สมบูรณ์ พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
เมื่อได้เมล็ดกาแฟที่สมบูรณ์พร้อมแล้วทั้งสีแดง และสีเหลือง ก็ถึงเวลานำเมล็ดทั้งหมดเข้าเครื่องโม่เพื่อแยกกะลา ซึ่งเครื่องที่บ้านขุนลาวเครื่องนี้ มีประสิทธิภาพในการแยกได้มากถึง 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมงเลยทีเดียว เจ้าหน้าที่จะเทเมล็ดกาแฟทั้งหมดพร้อมปล่อยน้ำลงในท่อ ซึ่งในท่อนี้จะมีรูอยู่ ถ้ามีของหนักอย่างหิน เหล็ก จะถูกกันไว้ไม่ให้เข้าไปในหัวโม่ หัวสีกาแฟ ซึ่งถ้าของหนักเหล่านี้หลุดไปได้อาจทำให้หัวสีกาแฟเกิดความเสียหายได้ หลังจากนั้นเครื่องสีจะแยกเปลือกเชอร์รี่กาแฟและกะลาออกจากกัน เมื่อกะลาถูกส่งผ่านท่อแล้ว ยังต้องแยกกะลาอีกครั้งหนึ่งไม่ต่างจากตอนคัดเลือกเมล็ดเชอร์รี่เลย คือกะลาที่ลอยน้ำถือว่ายังไม่สมบูรณ์เช่นกัน ในท้ายที่สุดกะลาที่จมน้ำเท่านั้น ที่ถือว่าเป็นกะลากาแฟคุณภาพ จะเห็นได้ว่ากว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน ต้องคัดแล้วคัดอีก ของดีที่สุดเท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้ไปต่อ มีเมล็ดกาแฟและกะลากาแฟจำนวนมากที่ต้องถูกคัดทิ้งอย่างน่าเสียดาย ซึ่งผลผลิตที่ถูกคัดทิ้งก็อาจนำไปบริโภคเองในครัวเรือนหรือส่งขายในตลาดที่ด้อยลงมานั่นเอง แต่ไม่มีสิทธิ์ได้ผ่านไปเป็น Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee อย่างแน่นอน
เจ้าหน้าที่เทเมล็ดกาแฟพร้อมปล่อยน้ำลงในท่อ
กะลากาแฟที่ผ่านการสีถูกส่งผ่านมาทางท่อ
กะลาที่ถูกแยกเปลือกเชอร์รี่ออกแล้ว ผ่านการคัดเลือกเรียบร้อย
เมื่อได้กะลากาแฟมาแล้ว ก็มาถึงอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหมัก ซึ่งมีสองส่วนที่ต้องควบคุมนั่นก็คือค่า pH และอุณหภูมิ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้สามารถส่งผลต่อรสชาติกาแฟได้ ค่า pH จะบ่งบอกถึงการหมักที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งจะทำให้กาแฟเกิดรสชาติที่เปรี้ยวขึ้นมาได้ เมื่อมีการตรวจสอบโดยตลอดก็จะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที การควบคุมทั้งสองอย่างนี้ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่ากาแฟแต่ละล็อตจะรสชาติคงที่ ไม่มีแกว่ง หลังจากหมักแล้วก็จะนำกะลากาแฟไปล้าง ขัดเมือก แล้วนำไปตากแห้ง สุดท้ายแล้วจึงบรรจุลงกระสอบเก็บไว้ใน Warehouse เพื่อรอจัดส่งให้ลูกค้าต่อไป และนี่คือขั้นตอนการแปรรูปเมล็ดกาแฟทั้งหมดที่เราได้มาเห็นด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ได้เห็นถึงคุณภาพ มาตรฐานการคัดที่ไม่มีคำว่าปล่อยผ่าน ซึ่งนี่เป็นมาตรฐานที่ตรงกับสิ่งที่ Greyhound Cafe เชื่อมาเสมอเช่นกัน
การควบคุมค่า pH และอุณหภูมิ เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้
กะลาที่ผ่านการหมักและล้างน้ำขัดเมือกเรียบร้อย พร้อมบรรจุและส่งจำหน่ายต่อไป
ทีมงาน Greyhound Cafe และทีมงานจากมีวนา ร่วมถ่ายภาพส่งท้ายเป็นที่ระลึก
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราว 2 วัน 1 คืน ณ บ้านขุนลาว แม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ทีมงาน Greyhound Cafe ทุกคนได้รู้จักกับที่มาที่ไปของ Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee ได้เข้าใจกาแฟอย่างแท้จริง เพราะสำหรับ Greyhound Cafe แล้ว การรู้จักทุกวัตถุดิบที่ใช้เป็นหัวใจสำคัญที่เราคำนึงถึงเสมอ ถ้าเรารู้จักตั้งแต่จุดเริ่มต้น ได้เห็นความยากลำบากกว่าจะได้แต่ละวัตถุดิบมา เราก็จะใส่ใจ เห็นคุณค่า และเปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านั้นให้ออกมาได้คุณภาพ อร่อย เหมาะสมกับความไว้วางใจที่ลูกค้าทุกคนเลือกสั่งแต่ละเมนู แม้จะต้องเดินทางไกลสักเท่าไหร่ เราก็ยินดีที่จะนำเรื่องราวทั้งหมดมาส่งต่อให้ลูกค้าคนพิเศษของเราเสมอ
ได้รู้ถึงขั้นตอนทั้งหมดแล้วแบบนี้ ใครอยากพิสูจน์คุณภาพ Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee กาแฟอินทรีย์ 100% จากป่าร่มเงา ที่ Greyhound Cafe สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับ MiVana มาลองด้วยตัวเองได้เลยที่ร้าน Greyhound Cafe และ Another Hound Cafe ทุกสาขา
ใครยังไม่ได้อ่านเรื่องราวในวันแรก ติดตามได้เลยทาง Greyhound Blend Story 2020 @Ban Khun Lao Day 1