Reservation

[contact-form-7 id="14" title="Reservation"]

*Online reservation valid only up to 24 hours before arrival*

*Your reservation will be completed after you’ve got a confirmation email*

Greyhound Blend Story : Coffee-Forest-Life Chapter 2

เช้าวันใหม่ในหมู่บ้านผาแดงหลวงเริ่มต้นขึ้น วันนี้ชาวบ้านจะพาเราเดินทางต่อเพื่อไปชมสวนกาแฟ โดยระยะทางกว่าจะขึ้นไปถึงสวนกาแฟได้นั้น ต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางที่เป็นเหวทั้งสองข้างทาง และความกว้างที่ค่อนข้างจำกัด รถไม่สามารถสวนทางกันได้ในหลายๆ ช่วง แม้จะได้ชมทัศนียภาพสวยๆ แต่ทีมงาน Greyhound Cafe ที่นั่งไปด้วยกันท้ายรถกระบะก็หวั่นๆ อยู่ไม่น้อย นี่คือเส้นทางที่ชาวบ้านต้องขับขึ้นลงเป็นประจำเพื่อขนส่งผลผลิตกาแฟ เพียงเท่านี้ทีมงานทุกคนก็รู้สึกได้ทันทีว่า กว่าจะได้ Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee มาให้ได้ดื่มกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ  

วิวสวยๆ ระหว่างการเดินทาง 

วันนี้ชาวบ้านพาเรามาชมสวนกาแฟ พร้อมสาธิตวิธีการเก็บผลกาแฟที่ถูกต้อง โดยมีพี่ จิตติ แลเชอกู่ หรือ ดอล เป็นผู้ให้ความรู้กับเรา นอกจากเรื่องการเก็บผลกาแฟแล้ว พี่ดอลยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตเมล็ดกาแฟทั้ง 3 รูปแบบด้วย

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือต้องค่อยๆ เด็ดผลกาแฟด้วยมือที่ละลูกให้ส่วนขั้วยังอยู่ติดกับกิ่ง เพราะถ้าเด็ดมาเลยทั้งพวง อาจส่งผลทำให้บริเวณตาของกิ่งที่เสียหายไม่สามารถออกผลได้อีกเลย ผลกาแฟต้องเก็บเฉพาะที่สุกเต็มที่แล้วเท่านั้น ผลจะมีสีแดงก่ำจนออกสีดำ เวลาเด็ดจะเด็ดได้ง่ายกว่าผลที่ยังไม่สุก

ส่วนขั้นตอนกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ แบบแรก Dry Process จะเก็บผลสดมาล้างน้ำสะอาดแล้วตากแห้ง ซึ่งจะใช้เวลาในการตากทั้งหมด 1 เดือน ต้องเกลี่ยทุกวัน 2 ชั่วโมงครั้ง จนกว่าจะแห้ง เพราะต้องใช้เวลานาน มีความเสี่ยงต่อเชื้อรา ต้องดูแลมาก จึงได้ราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้ากระเทาะเปลือก ล้างน้ำสะอาด แล้วนำไปตากแบบไม่ต้องขับเมือก ใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน จะเรียกว่า Honey Process ส่วนในแบบสุดท้าย Wash Process จะกระเทาะเปลือก แล้วล้างขับเมือกออกให้หมด แล้วจึงนำไปตาก 7-10 แดด แต่ในพื้นที่ที่อากาศเย็นมาก อาจใช้เวลามากกว่าเป็น 10-15 แดดได้

Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee ได้รับรองมาตรฐานออแกนิคจากนานาชาติ เช่น สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM), สหภาพยุโรป (EU Organic Farming), แคนาดา (COR) และสหรัฐอเมริกา (USDA Organic) ซึ่งการจะได้การรับรองมาตรฐานเหล่านี้ ต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้มา และการรักษาไว้ก็ต้องคงคุณภาพให้ได้เช่นกัน แต่ละมาตรฐานก็ต้องใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น มาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ต้องใช้เวลาตรวจสอบตั้งแต่เริ่มปลูกกาแฟถึง 3 ปี ส่วนมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU Organic Farming) ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี 6 เดือน มั่นใจได้ว่า Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee เป็นกาแฟที่ชาวบ้านดูแลอย่างตั้งใจ เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง'” 

จิตติ แลเชอกู่ หรือ ดอล ชาวบ้านที่พาเราชมไร่กาแฟพร้อมให้ความรู้ดีๆ ในวันนี้

ต้องรอให้ผลกาแฟมีสีแดงก่ำสุกเต็มที่ จึงจะเก็บได้

กว่าผลจะสุกแดงก่ำเต็มที่ต้องผ่านระยะเวลาไม่น้อย 

ฝีมือการเก็บผลกาแฟของทีม Greyhound Cafe

หมู่บ้านผาแดงหลวงได้เข้ามาเป็นสมาชิกโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนา โดยเริ่มต้นจากคนเพียง 2 คน ที่ได้เข้าไปอบรมเรียนรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ที่มีการจัดอบรมในปี พ.ศ.2555 แล้วจึงได้กลับมาชักชวนพี่น้องในหมู่บ้าน ผ่านระยะเวลามาจนมาถึงปัจจุบันนี้ หมู่บ้านผาแดงหลวงเป็นหมู่บ้านที่สามารถผลิตกาแฟอินทรีย์รักษาป่าเข้าสู่โครงการได้เป็นอันดับ 2 ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว

โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีวนานั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ แบบแรกเป็น “ โครงการอนุรักษ์รักษาป่า” ซึ่งในปีที่แล้วทีมงาน Greyhound Cafe ของเราได้ไปชมบ้านห้วยไคร้ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เขียวอยู่ตลอดเวลา น้ำก็มีความอุดมสมบูรณ์มากเช่นกัน และในแบบที่ 2 เป็นพื้นที่เหมือนในบริเวณพื้นที่หมู่บ้านผาแดงหลวง ที่เคยมีการถูกบุกรุกทำลายป่า มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า “เขตฟื้นฟูป่า” ซึ่งกาแฟนี่เองที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูป่าได้ เนื่องจากการปลูกกาแฟที่เหมาะสม ต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้น เมื่อชาวบ้านต้องการต้นกาแฟที่มีความแข็งแรง ได้คุณภาพที่ดี ชาวบ้านก็ต้องปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ เพื่อมาสร้างร่มเงาให้ต้นกาแฟ ดังนั้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา พื้นที่โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า จึงค่อยๆ เกิดความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่น่ายินดีที่ในหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านกว่า 90% ที่เป็นสมาชิกโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ดำเนินวิถีชีวิตด้วยการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว โดยไม่ไปเบียดเบียนหรือทำลายป่า และยังพยายามที่จะรักษาป่า ปลูกป่า ฟื้นฟูป่า มากขึ้นเป็นลำดับ ในอนาคตพื้นที่บริเวณนี้ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต่างจากบ้านห้วยไคร้ที่สัตว์ป่าน้อยใหญ่ค่อยๆ กลับมาอยู่อาศัยอีกครั้ง

ต้นกาแฟภายใต้ร่มเงาของป่าที่ค่อยๆ ได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่การเดินทางครั้งนี้จะจบลง ชาวบ้านได้มอบของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ เป็นเข็มกลัดสานที่ตั้งใจทำให้ทีมงานทุกคน โดยผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ค่อยๆ ติดให้กับทุกคน พร้อมคำอวยพร ด้วยระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน แต่เราได้รับการต้อนรับเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านผาแดงหลวง เหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง แม้ผู้อาวุโสจะไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้คล่องนัก แต่ก่อนจากกัน หนึ่งในผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน เดินมาจับมือพวกเราพร้อมรอยยิ้ม ก่อนพูดคำว่า “คิดถึง” เป็นความประทับใจส่งท้าย ที่ทำให้เรายิ่งหลงรักหมู่บ้านผาแดงหลวงมากยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน ติดเข็มกลัดที่ระลึกให้ทีมงาน Greyhond Cafe ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม

 

ใครจะไปคิดว่า ‘กาแฟ’ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากมายขนาดนี้ จากพื้นที่ป่าที่เคยถูกทำลาย ค่อยๆ ได้รับการฟื้นฟู กลายมาเป็น ‘ป่า’ ที่ให้ร่มเงาให้ต้นกาแฟเติบโตได้อย่างแข็งแรงจนสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้อย่างยั่งยืนให้ชาวบ้านมี ‘ชีวิต’ ที่ดีขึ้น พิสูจน์แล้วว่า ‘From sustainable crop to meaningful cup’ ไม่ใช่เพียงคำที่สวยหรู แต่คือความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว

ทั้งหมดนี้คือเหตุผล และเรื่องราวกว่าจะมาเป็น ‘Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee’ ที่คุณได้ดื่มที่ Greyhound Cafe และ Another Hound Cafe ทุกวันนี้ 

 

ทุกแก้วที่คุณดื่ม ช่วยสร้างรอยยิ้มและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชาวบ้านอีกนับไม่ถ้วน 

ทุกแก้วที่คุณดื่ม คือผืนป่าที่ค่อยๆ ถูกเติมเต็ม โดยที่คุณไม่รู้ตัว

 

เราอยากให้คุณได้ภูมิใจ ทุกครั้งที่ได้ดื่ม Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee เพราะทุกสิ่งที่เล่ามาทั้งหมด คงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดการสนับสนุนจากคนรักกาแฟเช่นคุณ 🙂

 

 

คุณสามารถอ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘Greyhound Blend by MiVana Organic Forest Coffee’ ได้จากลิงค์ต่อไปนี้

MiVana Organic Forest Coffee & GHC

Greyhound Blend by Mivana Organic Forest Coffee, From sustainable crop to meaningful cup.

Greyhound Blend Story: Coffee-Forest-Life Chapter 1