LUNCH WITH ILLUSTRATOR SISTERS
กินข้าวเที่ยงที่ The Crystal กับสองสาวพี่น้องนักวาดภาพประกอบแห่ง ‘แป้งนวลสตูดิโอ’
เที่ยงวันพุธ / บนโต๊ะอาหาร / Greyhound Cafe, The Crystal
นึกย้อนไปสมัยวัยรุ่น (ตามอายุผู้เขียน) ก็นานกว่าสิบปีได้แล้ว ที่เราได้รู้จักกับ แป้ง-ภัทรีดา และ นวล-นวลตอง ประสานทอง ในฐานะนักวาดภาพประกอบหญิงที่สร้างงานอย่างต่อเนื่อง แม้แป้งกับนวลจะเป็นพี่น้องที่ทำงานวาดภาพเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมา เราได้เห็นผลงานของทั้งคู่แบบแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน เนื่องจากสไตล์ ลายเส้น และคาแรกเตอร์ของงานที่แตกต่างกันมากๆ
แต่แล้วช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรากลับเห็นคาแรกเตอร์สาวหน้ากลมบ๊อกของแป้ง กับสาวหน้าคมร่างสูงชะลูดของนวล กระโดดมาอยู่ในงานชิ้นเดียวกันบ่อยครั้งขึ้น และยังได้รู้ว่าพวกเธอทำสตูดิโอร่วมกันภายในบริเวณบ้าน แถมยังเปิดเพจรวมผลงานที่สร้างร่วมกันในนาม Pangnual Studio อีกต่างหาก โดยไม่สนว่างานของพวกเธอจะคอนทราสต์กันแค่ไหน
สบโอกาสที่เรานัดเธอทั้งสองมากินข้าวเที่ยงกันที่ Greyhound Cafe สาขา The Crystal จึงชวนคุยและสืบให้รู้กันไปเลยว่าสองสาวพี่น้องคู่นี้ เขากำลังซุ่มทำอะไรสนุกๆ อยู่กันแน่นะ
ต่างคนต่างวาดอยู่ดีๆ ทำไมต้องมี Pangnual Studio
แป้ง: ตอนเริ่มต้นทำงาน เราสองคนมีสไตล์ตัวเองที่ชัดเจนมาก ต่างคนจะมุ่งหน้าไปในทางตัวเอง ไม่มีอะไรใกล้กันเลย ซึ่งถูกแล้วสำหรับการเริ่มต้นที่เราสองคนต้องหลีกกันให้มากที่สุด แต่พอทำงานไปนานๆ เราจะเริ่มรู้ว่าเรามีส่วนที่เข้ากันได้นะ ถ้าต่างคนต่างไปขัดเกลาของตัวเองมา ถ้าเราหามุมที่มารวมกันได้ มันจะสนุกมาก และยิ่งสนับสนุนกันและกันเข้าไปอีก ก็เลยคิดว่าเรามาทำสตูดิโอกันเถอะ ที่เราได้ทำอะไรร่วมกัน บางงานก็ไม่ใช่แค่วาดรูปมารวมกันนะ แต่เป็นการจัดองค์ประกอบและส่วนผสมที่เราสองคนชอบมาอยู่ด้วยกัน เหมือนเวลาที่เราสองคนจัดบ้าน
นวล: มันเริ่มจากการจัดบ้านด้วย ตอนนั้นเราสองคนทำบ้านใหม่ เมื่อก่อนเราต่างเป็นฟรีแลนซ์ที่ต้องออกจากบ้านทุกวัน พอได้ทำบ้านใหม่ เราก็ทำสตูดิโอด้วยเลย ตื่นมาเราจะได้ไม่ต้องเร่ร่อนไปนั่งตามคาเฟ่ต่างๆ เพราะทำมาหลายปีเข้าเราก็ไม่ไหว ต้องหาที่หลักแหล่ง พอมีคนชอบให้เราสองคนทำงานด้วยกัน เราก็เริ่มใช้ชื่อ Pangnual Studio แต่บางงานที่เป็นงานเดี่ยวหรือนิทรรศการก็แยกกัน ต่างคนต่างรับเหมือนเดิมนะ ไม่ได้ทำรวมกันทุกงาน
งานชิ้นแรกที่เริ่มทำด้วยกันคืองานไหน
นวล: ตอนนั้นร้านสปูนฟูลคาเฟ่ชวนออกแบบลายกับแบรนด์ Masking Tape (MT) เป็นลายพิเศษเฉพาะของเมืองไทย เขาให้เราทำในนามสองคนเลย เป็นงานแรกๆ ที่เราต้องมานั่งคิดว่าเราจะรวมกันยังไง เพราะบอดี้ตัวที่เราวาดเป็นตัวสูง ส่วนของพี่แป้งเป็นบอดี้ตัวเตี้ย เดี๋ยวตัวนึงจะกลายเป็นแม่ อีกตัวจะกลายเป็นลูก (หัวเราะ) เราเลยต้องหาสัดส่วนที่มันจะจับมือกันได้ เหมือนกับตัวของเราก็ต้องเอื้อมลงไปสุดตัว ตัวของพี่แป้งก็ต้องเขย่งสุดฤทธิ์ งานสตูดิโอก็เลยเป็นงานที่สนุก เหมือนเราต้องคิดนิดนึงว่าเราจะผูกกันในมุมไหน
รับงานด้วยกัน ฟังดูน่าสนุกและยากไปอีกแบบ
แป้ง: ใช่ เราสองคนคิดโจทย์ร่วมกัน แต่เราต้องทำให้มันดูออกว่าอันนี้แป้งทำ อันนี้นวลทำ อย่างล่าสุดที่วาดให้โปรเจกต์ Hip Drawing ของ Greyhound Cafe วาดพอร์เทรตช่วยมูลนิธิรามาธิบดี ปกติเราก็แยกกันวาดคนละคิว นวลสามวัน แป้งสามวัน แต่ปีที่ผ่านมามีแบบพิเศษในวันสุดท้าย คือแป้งนวลมาวาดรวมกัน เราเห็นคนนี้เป็นยังไง นวลเห็นคนนี้เป็นยังไง แล้ววาดออกมาอยู่ในเฟรมเดียวกัน ในมือของคนที่นวลวาดก็จะมีคนที่พี่แป้งวาดนั่งอยู่ อะไรแบบนี้ มันก็เลยเป็นอะไรที่สนุก
นวล: ตอนรับเพนต์งานชิ้นใหญ่มากๆ ที่ราชประสงค์ เราก็ต้องคิดเลยว่างานใหญ่นี้ใครจะเป็นตัวหลัก เราเป็นคนชอบวาดสด ชอบทำงานชิ้นใหญ่ๆ เราก็คุยกันว่าให้คาแรกเตอร์ของเราเป็นตัวเด่นนะ ส่วนคาแรกเตอร์ของพี่แป้งจะเข้ามาประกอบ คือเราก็จะดูกันว่าบางงานใครเด่น ใครจะหลบให้ สลับกัน เหมือนอีกคนมาเป็นแบ็กกราวด์หรือกราฟิกแทน ทำให้งานชิ้นนั้นมีเราสองคนอยู่ด้วยกันได้
ถ้าให้สองพี่น้องแลกกันวิจารณ์งานของอีกคน จะได้ไหม
แป้ง: ได้ (ยิ้ม) เราชอบงานนวลมาก คือเราอยู่กับเขามาสิบกว่าปี ถ้าเขาทำงานที่เรายังไม่ชอบอีกแปลว่ามันไม่ใช่ทีมละ คือเวลามีอะไรเราจะคอมเมนต์กันตลอด นวลเขาก็จะคอมเมนต์เราเหมือนกันว่า เอ้ย ใส่รายละเอียดเยอะไปแล้ว เหมือนเราต้องใช้ตาของอีกคนนึงมาช่วยกันดูด้วย
เหตุผลที่เราชอบงานนวล ต่อให้ไม่รู้จักกันก็ชอบ เพราะเขาเป็นคนที่ทำงานแบบมีที่มาที่ไป แล้วงานเขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สิ่งที่เขาเอามาทำมันสนุกที่จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ทุกวัน อย่างเราซื้อของมาเสร็จก็ทิ้งลัง แต่นวลเขาก็ไปเก็บลังมาวาดรูป เป็นอะไรที่สนุกที่เราจะได้ดูว่างานเขาเปลี่ยนไปทางไหน เพราะนวลเขาขี้เบื่อ และความขี้เบื่อของเขามันทำให้เขาทำได้ทั้งปั้นพระ ทำต่างหู ทำจิลเวอรี่ แล้วเราเห็นวิธีคิด
ประเด็นคือ ถ้าคุณเห็นวิธีคิดใครก็ตาม คุณจะชอบงานคนนั้น เพราะเราไม่ได้เห็นแค่บนๆ เราสนุกที่ได้เห็นกระบวนการคิดของเขา ผลลัพธ์มันเป็นแค่ส่วนผิวเท่านั้น
นวล: เรารู้ว่าที่เราอยู่กันได้เพราะเราทำงานที่พี่แป้งไม่ทำ แล้วพี่แป้งก็ทำงานที่เราทำไม่ได้ คือในมุมของการใช้สี ความซับซ้อน ตอนแรกที่พี่แป้งทำงานด้วยมือตลอด เราก็บอกเขาว่าทำคอมฯ เถอะ ทำมือแบบนี้กี่อันกว่าจะได้ต้นฉบับชิ้นหนึ่ง ทุกวันนี้แม้เขาจะทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ความละเอียดในการซ้อนเลเยอร์ของเขามันก็เยอะมากจริงๆ มันเป็นการเดินทางของเขา เราชอบการใช้สีของเขา และเราคิดว่าไม่มีใครทำแบบเขาได้
คือพวกเราไม่ได้เรียนศิลปะกันมาทั้งคู่ เพราะฉะนั้น เราไม่เข้าใจหรอกว่ากรอบของศิลปะคืออะไร รู้แค่สิ่งที่ทำคือแกงเขียวหวาน ไข่เจียว อยู่ด้วยกันแล้วอร่อย ฉันก็รวมของแบบนี้มาด้วยกัน มันเป็นความรู้สึก ซึ่งมันทำให้งานของพวกเรามีมิติที่เราว่าไม่รู้จะสอนคนอื่นยังไง แต่ความรู้สึกเวลาที่เราได้เห็นงานของเขาทุกครั้งคือมัน ‘lift up’ เราก็จะสงสัยตลอดว่าทำไมรูปทรงง่ายๆ แค่นั้นแต่ออกมาน่ารักได้ ไอ้เรากว่าจะวาดได้ใช้เส้นเป็นร้อยเส้น เราช่างแตกต่างกันในกระบวนการเหลือเกิน แต่นั่นแหละ ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้
ทั้งที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่น่าจะใกล้เคียงกัน ทำไมงานถึงออกมาต่างกันมากๆ
แป้ง: ความชอบเป็นสิ่งที่เราเอาอะไรไปครอบไม่ได้นะ เราถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวเดียวกัน แต่ใจเราจะไปชอบอะไรมันก็เป็นเรื่องอิสระ การเลี้ยงดูก็เหมือนให้อาหารสดไว้ แต่ว่าแต่ละคนจะไปทำอะไรต่อ มันต้องเป็นรสที่ตัวเองชอบจริงๆ
นวล: เราชอบ อ.จักรพันธ์ุ โปษยกฤต เราก็ฝึกวาดผู้หญิงด้วยลายเส้นแบบนั้น แต่พี่แป้งไม่ได้ฝึกวาดรูปแบบเดียวกับเราเลย
แป้ง: แต่เราชอบอ่านหนังสือ อิทธิพลก็เลยมาจากรูปประกอบในหนังสือ จำได้เลยว่าอ่านเรื่อง ‘เด็กกระป๋อง’ เห็นภาพประกอบในนั้นแล้วรู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมวิธีที่เขาเขียนขากางเกงกับข้อเท้าและรองเท้า มันทำให้ใจเราที่เฉยๆ มันกระโดดขึ้นมาได้ แค่ตรงนั้นเลยนะ เลยเอากระดาษมาวาดตาม เป็นสิ่งที่ทำให้ใจเรากระโดดขึ้นมาโดยไม่สามารถบอกได้ว่าทำไม มันคือความรู้สึก
นวล: ซึ่งเราไม่อ่านหนังสือเลย เราเสพกันคนละอย่าง ด้วยความที่เขาอ่านหนังสือ เราก็ต้องเล่นคนเดียว ขี่จักรยานอะไรไป นึกออกไหม ฉันก็ต้องหากิจกรรม มันก็เลยต่างกัน แต่เรามีอย่างเดียวที่เหมือนกันคือ เราอยากให้รูปที่เราวาดมันไปในทาง positive อยากให้งานที่ออกจากสตูดิโอเราเป็นงานที่เห็นแล้วบวก เห็นแล้วเบาขึ้น ไม่ใช่งานที่เห็นแล้วชีวิตมันยาก อยากให้ lift up
Lift up เป็นคำที่พูดขึ้นมาบ่อยมาก เพราะอะไร
แป้ง: เพราะเราถนัด และเราเชื่อในทางนี้ ในทางที่ใจมันกระโดดขึ้น
นวล: มันอาจจะไม่ใช่แค่ความหมายของรูป แต่หมายถึงการใช้สีด้วย เราเลือกแล้วว่าอยากทำให้ใจกระโดดขึ้น รูปหนักๆ ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่สตูดิโอเราเลือกทางนี้ เราเคยทำแบบหนักๆ มาแล้วในนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง แต่พอมาทำงานแบบ commercial art ใครจะอยากเอารูปที่มัน negative ไปไว้ในสิ่งของของเขา เราเชื่อว่าการอยู่บ้าน พลังมันต้องดี สมมติคนเอารูปเราไปแขวนบ้านก็อยากให้เขาเกิด positive energy เอาไปประกอบกับบ้านแล้วบ้านสวย ประกอบถ้วยกาแฟแล้วมันน่ารัก เราทำสิ่งที่ตัวเองเลือกและเชื่อ มาทางนี้อย่างชัดเจน
มีผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนที่พองานเราไปอยู่ตรงนั้นแล้วชอบ หรือคิดว่าแปลกเป็นพิเศษ
แป้ง: กระป๋องโค้ก รู้สึกเจ๋งมากเลยที่ได้ทำ สนุกอะ วันนึงรูปเราจะไปอยู่ในสิ่งที่ทุกคนกิน ตอนนั้นนอกจากวาดลายกระป๋องเรายังได้ทำบิลบอร์ดหน้าห้างสรรพสินค้าด้วย ไม่เคยทำอะไรที่ใหญ่ขนาดนั้น พอนั่งรถไฟฟ้าผ่านแล้วเห็น ก็เป็นงานที่ทำให้ใจกระโดดมาก
นวล: ของเราที่ประทับใจแรกๆ คือรองเท้าผ้าใบคอนเวิร์ส คือเราชอบงานสตรีท พอได้ทำของที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสตรีทแล้วเราก็ดีใจ พอวันนึงหยิบมาดูอีกก็รู้สึกดีที่ได้ทำ มันประทับใจ
แป้ง: อีกงานที่ประทับใจ คือโปรเจกต์ Hip Drawing ของ Greyhound Cafe เพราะในรอบหนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียวที่เราได้เจอ end user จริงๆ อย่างเวลาวาดให้ผลิตภัณฑ์ คนที่ซื้อไปเขาก็ไม่ได้มาปฏิสัมพันธ์อะไรกับเรา แต่นี่เราได้นั่งคุยกัน มันเป็นครั้งเดียวในรอบปีที่เราได้เจอคนที่ชอบงานเรา บางคนก็ทำขนมมาฝาก คือมันดีมาก เป็นวันที่เราได้รับพลังเอาไปใช้ต่ออีกปีนึง ล่าสุดมีน้องเอาสมุดที่เก็บประวัติเราตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานมาให้ดู โอ้โห คือเราก็ทำงานมานานแล้ว แต่เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีคนชอบงานเราขนาดนี้ ถ้า Greyhound Cafe ไม่จัดงานนี้ขึ้นมา วันนั้นเราได้อะไรมากมายยิ่งกว่าทั้งปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณเลย
นวล: งานถัดไปคือลายผ้านวม มันมาถึงจุดนี้แล้วที่รูปเราไปอยู่บนผ้านวม ชอบแต่งบ้านอยู่แล้วด้วย เราก็ดีใจนะ (ยิ้ม) ฝากด้วยนะคะ
แป้ง: พอเราทำมาเยอะ พอได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำเราก็ดีใจนะ เฮ้ย ของที่เราทำมันจะครบทั้งบ้านอยู่แล้ว
ในฐานะคนทำอาชีพนักทำภาพประกอบ ปรับตัวให้เข้ากับยุคนี้ยังไง
แป้ง: ทุกคนตื่นมาก็ต้องปรับตัวนะ แต่ถ้าถามในฐานะคนทำอาชีพนี้ ก็ต้องปรับตัวเยอะ ยิ่งมาถึงตอนนี้ ต้องคิดดีๆ ว่าเราอยากบอกอะไรกับโลกนี้ ไม่ว่ามันจะอยู่ในอะนิเมชั่น ภาพนิ่ง หนังสือ อะไรก็ตามแต่ เอาชัวร์ๆ คิดอย่างมุ่งมั่นว่าเราอยากบอกอะไร เชื่ออะไรจริงๆ แล้วก็ทำออกไป ไอ้ที่เหลือมันเป็นแค่ว่าเราจะหยิบใส่จานแบบไหน
นวล: เรามีสอนเด็กที่จุฬาฯ ด้วยกันมาเจ็ดปีแล้ว รู้การเปลี่ยนแปลงของโลกทุกอย่างเพราะไปสอนเด็กนี่แหละ เข้าใจเลยว่า gap ของเรากับเจเนอเรชั่นที่พีคอยู่มันต่างกันยังไง
แป้ง: เราเห็นชัดมาก เมื่อก่อนจะถามว่าเอ้า ใครอ่านแมกกาซีนบ้าง เดี๋ยวนี้เลิกถามแล้วเพราะเด็กๆ จะทำตาจุดใส่ (หัวเราะ)
นวล: เราปรับตัวตลอด เพราะเราชอบลอง ไม่ได้คิดเป้าหมายว่าปรับตัวเพื่ออะไร แต่เราก็หันมาทำสิ่งใหม่ได้มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราก็สนใจแค่ผลลัพธ์ของชิ้นงานอย่างเดียว แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเปิดให้คนเห็นว่าระหว่างทางเราทำอะไร เพราะคิดว่าเราต้องอยู่ด้วยแพสชั่นด้วย เราต้องทำงานด้วยความชอบ แล้วเราก็ชอบลองอะไรหลายอย่างจริงๆ ถ้าโอกาสเข้ามา แล้วสกิลเรามี เราก็ทำ
แป้ง: การที่เราเข้ามาสู่ยุคที่ทุกคนทำได้ ทุกคนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว มันทำให้เราต้องมานิ่ง แล้วถามตัวเองว่าแล้วเราเชื่ออะไร อะไรคือสิ่งที่เราอยากสื่อออกไป เราจะไม่เอาผิวๆ แล้ว แล้วเราก็ตอบได้ว่าเราเชื่อในรูปทรงที่มันน่ารัก จับเชพต่างๆ มาวาดรูป นั่นคือวิธีการที่เราจะสื่อ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้เรามีสิ่งที่เราอยากจะบอกอยู่ข้างในงานตัวเองแล้ว แม้มันจะเป็นงานคอมเมอร์เชียลก็ตาม แต่เราก็ต้องทำงาน self-initiate ขึ้นมาเองบ้าง
เช่นงานอะไร ที่อยากทำขึ้นมาเอง
แป้ง: อยากทำหนังสือสอนวาดรูป ด้วยวิธีแบบพี่แป้ง เวลาเราเห็นหน้าคน เราเห็นอะไรเราถึงวาดออกมาเป็นคนนั้น ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนวาดรูปเลย แล้วเราใช้วิธีเห็นแล้ววาด แต่ก่อนครูให้วาดวงกลมก็ไม่กลม วาดมือก็วาดไม่ได้ต้องวาดล้วงกระเป๋า เวลาเราสอนเราก็เลยไม่ได้สอนทฤษฎีแต่สอนวิธีที่เราใช้ ดูรูปแล้วถอดรหัสออกมา มันเป็นวิธีของเราเองที่ต้องทำงานให้น่ารัก นี่เป็นสิ่งที่เราอยากบอกต่อไปว่ามันก็มีวิธีนี้นะ
เห็นว่าทั้งสองคนตั้งใจจะทำโรงเรียนด้วย
แป้ง: รอก่อนนะ ให้สิ่งที่เราจะบอกมันออกไปเป็นหนังสือก่อน แล้วโรงเรียนค่อยตามมา (ยิ้ม)
มักจะเห็นงานของแป้งนวลในงานที่เกี่ยวข้องกับการกุศล เป็นความตั้งใจหรือเปล่า
แป้ง: ใช่ค่ะ ถ้ารูปของเราสร้างประโยชน์ให้คนอื่นต่อได้ เราทำ แต่ก็เลือกนะ ไม่ได้ทุกอย่างเป็นกุศลหมด ใจผู้ทำต้องเป็นกุศล ผู้นำไปทำก็เป็นกุศล และต้องได้ประโยชน์จริงๆ กับคนรับปลายทาง ถ้าเข้าข่ายสามอย่างนี้เราทำเต็มที่ ครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) สอนตั้งแต่เข้ามาวาดรูปใหม่ๆ เลยว่า งานการกุศลต้องทำนะ เพราะรูปเราได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น
นวล: พอตอนหลังเราก็เลยได้ทำงานกุศลแบบต่อเนื่อง
แป้ง: ใช่ แล้วทุกอย่างมันไหลออกมาจากมือเรา เอาไปช่วยสร้างโรงพยาบาล ไปทำให้เด็กได้เรียนหนังสือ ทำไมจะไม่ทำ
ทุกวันนี้ ถ้ามีคนถามว่าวาดรูปเพื่ออะไร จะตอบว่าอะไร
แป้ง: เพื่อวาด เพื่อเป็นอาชีพ แค่นั้นก็พอละ มีความสุขจังเลยตอนวาด ที่เหลือถือเป็นโบนัสพิเศษ
นวล: เราวาดเพื่อตัวเองล้วนๆ เพราะรูปที่เราวาดคือการเดินทางของชีวิตตัวเอง เมื่อชีวิตเราเจอเรื่องยาก รูปเราก็จะมีงูออกมา มันคือการที่เราคุยกับตัวเอง แล้วเราไม่ต้องบอกด้วยว่าชีวิตคืออะไร แต่พอผ่านงูมาได้แล้ว ดอกไม้ก็อาจจะบานก็ได้ เราจะรู้ว่าจิตใจเราข้างในเราเป็นอะไร มันคือการคุยกับตัวเองเรื่อยๆ แต่ผลพลอยได้คือมันเป็นอาชีพ จริงๆ ถ้าไม่ได้ศิลปะทั้งหมด เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ยังไง เพราะเราห่างมาเยอะจากสิ่งที่เราเรียนมาในมหาวิทยาลัย
แล้วทุกวันนี้ใช้ชีวิตแพ็กคู่ไหม
นวล: ก็เกือบนะ เพราะพี่แป้งไม่ขับรถ เวลากลับดึกก็กลับด้วยกัน แต่ที่สตูดิโอเราก็แบ่งโซนกันทำงานนะ
แป้ง: เพราะอะไรรู้ปะ ความจริงคือ ดูทีวีกันคนละช่อง (หัวเราะ)
—
อาหารของ Greyhound Cafe มาเสิร์ฟเต็มโต๊ะ บทสนทนาของเราและสองสาวยังดำเนินต่อไปอีกสักพักระหว่างกินข้าว ในหัวข้อเรื่องสัพเพเหระ ไล่ตั้งแต่งานยันชีวิตส่วนตัว ดวง ฮวงจุ้ย การจัดบ้าน ฯลฯ ทำให้เราหายสงสัยว่าทำไมสองพี่น้องนักทำภาพประกอบที่ดูแตกต่าง ไม่มีอะไรเหมือนกันนี้ ถึงอยู่ด้วยกันและทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง และลงตัว
มันก็น่าคล้ายๆ กับสโลแกน Basic With a Twist. นั่นแหละ
ติดตามผลงานของแป้งละนวลได้ที่
https://www.facebook.com/pangnualstudio/
Instagram @pattreeda และ @nualtong