Perfectly Imperfect: Baby Carrot/Cherry Tomato and Zucchini
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ เห็ดพ็อตโตเบลโล่ ที่ไม่ได้ไปต่อเพราะมีรอยถลอกเพียงเล็กน้อย และมันเทศญี่ปุ่น ที่โชคร้ายเติบโตผิดรูปร่างต่างจากความนิยมทั่วไป จนไม่มีโอกาสได้โชว์รสชาติความอร่อย ต้องกลายเป็น Food Waste ไปอย่างน่าเสียดายแล้ว
วัตถุดิบ Perfectly Imperfect ที่เราจะได้ชมต่อไปก็คือ “เบบี้แครอท” โดยทีมงานได้เดินทางไปถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่เราได้พบกับเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่กำลังรวมตัวกันเพื่อคัดเบบี้แครอทให้พร้อมสำหรับส่งให้โครงการหลวง
เกษตรกรทำการคัดแยกเบเบี้แครอทอย่างตั้งใจ
เบบี้แครอทหลากหลายรูปแบบ ยังต้องคัดแยกอีกเป็นจำนวนมาก
จากการสังเกตการณ์เพียงไม่นาน เราได้เห็นเบบี้แครอทรูปร่างผิดปกติหลากหลายแบบซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น เกิดความกระทบกระเทือนถึงรากจากการถอนหญ้า ทำให้รากเกิดเป็นแง่งเกินออกมา, ผลไม่เป็นสีส้มเสมอกันเพราะมีส่วนที่โผล่ออกมาจากดินจนเกิดการสังเคราะห์แสง ทำให้กลายเป็นสีเขียว, ผลแตกเพราะได้รับน้ำมากเกินไป หรือถ้าได้รับน้ำน้อยเกินไปก็ทำให้ผลมีขนาดเล็กแคระได้อีก น้ำและดินจึงมีผลต่อความสวยงามของผลผลิตเป็นอย่างมาก ซึ่งธรรมชาติก็ยากที่จะควบคุมได้ดั่งใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ในท้ายที่สุดผลผลิตที่ไม่สวยงามตามที่ตลาดต้องการ แม้รสชาติจะไม่แตกต่างจากหรือคุณค่าจะยังคงอยู่ครบถ้วนเท่าไหร่ ก็ต้องถูกคัดออกทั้งสิ้น จบที่ลงไปกองบนพื้นดิน มีประโยชน์เพียงเป็นปุ๋ยหรือกลายเป็นอาหารของสัตว์น้อยใหญ่เท่านั้น
เบบี้แครอทที่รูปร่างแตกต่างจากปกติ พบได้มากถึง 30%
สำหรับเชฟต่อแล้ว ไม่ว่าวัตถุดิบจะรูปร่างผิดเพี้ยนแค่ไหน บิดเบี้ยวไปบ้าง ผิวไม่เรียบเนียน สีไม่เสมอกันหรือขนาดใหญ่,เล็กเกินไป ถ้าความผิดปกตินั้นไม่ส่งผลถึงรสชาติ ทุกผลก็คือเบบี้แครอทเหมือนกัน คุณค่าทางสารอาหารเมื่อรับประทานก็ดีต่อร่างกายไม่แตกต่างกัน นำไปสร้างสรรค์เมนูอร่อยๆ ได้ไม่ใช่เรื่องยาก อย่าคิดว่านี่คือวัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ สุดท้ายก็ต้องผ่านการปรุง เปลี่ยนรูปลักษณ์จากเดิมอยู่แล้ว มั่นใจได้เลยว่าความอร่อยไม่มีตกแน่นอน
ตัวอย่างของเบบี้แครอทที่แตกต่างจากทั่วไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ
ต่อจากเบบี้แครอทแล้ว เราก็ได้เดินทางต่อไปยังสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เพื่อไปคัดเลือก “มะเขือเทศเชอร์รี่” โดยได้ คุณคุณาวุฒิ สุทธิเนียม หรือ พี่บอย หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มาช่วยอธิบายถึงเกณฑ์การคัดเลือกมะเขือเทศเชอร์รี่ตามมาตรฐานโครงการหลวงทั่วไป
พี่บอย คัดเลือกมะเขือเทศเชอร์รี่หลายรูปแบบให้เชฟต่อได้เลือกใกล้ๆ
มะเขือเทศเชอร์รี่มีการแบ่งเป็นเกรดเช่นเดียวกัน โดยใช้ขนาดเป็นส่วนสำคัญในการวัด มะเขือเทศเชอร์รี่เกรด 1 ต้องมีขนาด 1.5 เซ็นติเมตร เกรด 2 มีขนาด 1 เซ็นติเมตร ถ้าขนาดเล็กกว่า 1 เซ็นติเมตร ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานก็ต้องถูกคัดออก อีกหนึ่งส่วนที่เป็นตัวตัดสินก็คือเรื่องความสวยงาม การพัฒนาของสี ผิวเรียบเนียนสม่ำเสมอหรือไม่ แม้ขนาดจะผ่านเกณฑ์ แต่ความสวยงามยังไม่ถึง ก็ไม่ได้ไปต่ออีกเช่นกัน ซึ่งพี่บอยได้เล่าให้ฟังว่า จริงๆแล้วมะเขือเทศเชอร์รี่ลูกเล็กจะมีรสชาติหวานอร่อยเป็นพิเศษ แต่ด้วยขนาดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็จำเป็นจะต้องคัดออกเช่นกัน
แค่สีไม่แดงสดก็หมดสิทธิ์ได้ไปต่อแล้ว แต่ไม่ใช่ที่ Greyhound Cafe
ใน 1 ต้น มีผลหลากหลายแบบแตกต่างกัน
มาถึงวัตถุดิบสุดท้ายที่เราได้รับชมจากโครงการหลวงในครั้งนี้นั่นก็คือ “ซูกินี” ซึ่งก็มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับโครงการหลวงเช่นเดียวกับมะเขือเทศเชอร์รี่ โดยส่วนสำคัญคือรูปทรงต้องตรง ไม่โค้งงอ สีเขียวสม่ำเสมอทั้งลูก ไม่มีรอยขูดขีด ส่วนเรื่องขนาดก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน ขนาดของซูกินีเกรด 1 ความยาวของผลอยู่ที่ 12-20 เซ็นติเมตร ส่วนเกรด 2 ผลต้องมีขนาด 9-18 เซ็นติเมตร ถ้าขนาดใหญ่เกินไปก็ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยปกติซูกินีต้องเก็บวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น เพราะเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วมาก ถ้าทิ้งไว้นานเกินไป ผลจะมีขนาดใหญ่เกินขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถขายต่อได้ ต้องคัดออกเพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ผลซูกินีที่โค้งงอถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนการปลูกซูกินี่มากขึ้น ทีมงานได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก จะแก้ว ธรรมชูสกุล หรือพี่สุกา เกษตรกรชาวปกาเกอะญอ ผู้ปลูกซูกินี่มากว่า 30 ปี โดยพี่สุกาได้เล่าให้ฟังว่า “ขั้นตอนการปลูกซูกินี่ เริ่มจากนำเมล็ดที่ได้มาไปแช่น้ำหนึ่งคืน ก่อนจะนำไปห่อในผ้าที่เตรียมไว้ เมล็ด 1 ถุง มี 3พันต้น ใช้ห่อผ้าประมาณ 4 ห่อ ห่อผ้าทิ้งไว้อีกประมาณ 2 คืน แล้วเมล็ดจะเริ่มงอก จากนั้นให้ย้ายไปใส่ถาดเพาะ ประมาณ 4-5 วันก็สามารถย้ายลงแปลงได้แล้ว โดยต้องคลุมพลาสติกที่แปลงด้วย ถ้าไม่คลุม ผลผลิตที่ได้จะไม่สวย นับเวลาตั้งแต่เริ่มเพาะ จนเก็บผลผลิตได้ใช้เวลาประมาณ 40 วัน ส่วนผลผลิตที่ดูไม่สวยงาม ก็จะไม่ส่งต่อให้โครงการหลวง แต่เอาไปให้หมูกินแทน ผลผลิตทั้งแปลงช่วยกันเก็บกับแฟนแค่ 2 คนได้ แต่บางครั้งลูกๆ ก็มาช่วยบ้าง ในช่วงที่ซูกินีได้ราคาดี ก็อยู่ได้สบายๆ แต่ถ้าช่วงไหนราคาไม่ดี ก็ลำบากเหมือนกัน”
พี่สุกากับซูกินีที่ตั้งใจปลูกเองกับมือ
แปลงซูกินีต้องคลุมพลาสติก เพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของวัตถุดิบ Perfectly Imperfect ที่เราได้มาเห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ ได้เห็นปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ได้เห็นจำนวน Food Waste มากมายที่เราช่วยกันลดได้ รวมถึงชีวิตของเกษตรกรที่น่าจะดีขึ้นได้กว่านี้ Greyhound Cafe จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะนำวัตถุดิบคุณภาพดีที่ถูกคัดออกเพราะรูปร่างหน้าตาไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ กลับมาเป็นอาหารและของหวานหน้าตาดี รสชาติอร่อย ได้คุณค่าทางโภชนาการ และคุณก็สามารถช่วยลดปัญหา Food Waste และสนับสนุนเกษตรกรจากโครงการหลวงได้ง่ายๆ แค่แวะมาอร่อยกับ Special Menu ‘Perfectly Imperfect’ ที่ร้าน Greyhound Cafe ทุกสาขา (ยกเว้นสาขาหัวหิน) ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2652 แล้วคุณจะได้รู้ว่าวัตถุดิบรูปร่าง Imperfect ก็กลายเป็นจาน Perfect ที่คุณจะประทับใจไปอีกนานได้ 🙂
คลิกที่ลิงค์ด้านล่างเพื่อติดตามเรื่องราวของวัตถุดิบ Perfectly Imperfect เพิ่มเติมได้เลย
อยากรู้เรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของแคมเปญ Perfectly Imperfect คลิกที่นี่
Perfectly Imperfect : Portobello & Japanese Sweet Potato คลิกที่นี่
อยากรู้ว่ามีเมนูอะไรให้ได้อร่อยกันบ้างใน ‘Perfectly Imperfect’ คลิกที่นี่
#PerfectlyImperfect
#WasteNoMore
#GreyhoundCafe